ค่าใช้จ่ายคุณภาพ (Cost of Quality)
ค่าใช้จ่ายที่จะทำให้งานเกิดคุณภาพ เป็นค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการขณะปัจจุบันเทียบกับค่าดำเนินการขณะที่ทุกๆ คนในองค์การทำงานเต็มที่ หรือ รายรับขณะปัจจุบันเทียบกับรายรับขณะที่ลูกค้าทุกคนยอมรับและพึงพอใจสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัททุกบริษัทนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายคุณภาพทั้งสิ้น เพื่อให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ และเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า และถ้ามีเกณฑ์ การควบคุมคุณภาพ ราคา และเวลาที่เหมาะสม การจัดการจุดนี้จะเป็นช่องทางในการลดต้นทุน โดยไม่กระทบต่อผลผลิตและยอดขายอีกด้วย
ค่าใช้จ่ายคุณภาพไม่ได้ประกอบด้วยการผลิตเพื่อผลผลิตเพียงอย่างเดียวแต่ต้องทำการประเมินระดับคุณภาพทั่วทั้งองค์กรโดยผ่านการวิเคราะห์ต้นทุนแห่งคุณภาพ ซึ่งการที่จะทำการประเมินค่าใช้จ่ายคุณภาพทั้งองค์กรได้นั้นก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย รวมไปถึงความร่วมมือของผู้ฝ่ายบริหารด้วย และจะต้องคิดถึงเรื่องคุณภาพเป็นหลัก มากกว่าที่จะเอาเรื่องเงินหรือเรื่องกำไรเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายคุณภาพนั้นหากเรามีการเพิ่มความตระหนักในคุณภาพและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ลด ค่าใช้จ่ายของคุณภาพได้ ในทุกๆ ส่วนขององค์กร
ค่าใช้จ่ายคุณภาพแบ่งได้ 2 กรณีหลัก ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายการป้องกัน (Prevention Cost) และค่าใช้จ่ายการประเมินผล (Appraisal Cost)
1.1 ค่าใช้จ่ายการป้องกัน (Prevention Cost) เป็นค่าใช้จ่ายจากความพยายามที่จะป้องกันความสูญเสีย ความล้มเหลวหรืองานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการวางแผนและคิดก่อนที่จะดำเนินงานจริง โดยการป้องกันจะประกอบด้วยหลายๆปัจจัยเช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ การประกันคุณภาพ เครื่องมือตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมพนักงานในองค์กร รวมไปถึงทรัพยากรที่นำมาผลิตด้วย
1.2 ค่าใช้จ่ายการประเมินผล (Appraisal Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เพื่อประกันคุณภาพและยืนยันว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปตามข้อกำหนด เช่น การทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า เครื่องมือตรวจสอบ ค่าซ่อมบำรุงรักษา การตรวจสอบราคาและสินค้า ค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายและเวลาในการเก็บข้อมูลงานคุณภาพ ฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายเนื่องจากความล้มเหลว (Failure Costs) แบ่งได้เป็น2กรณี คือ
2.1 ค่าใช้จ่ายเนื่องจากความล้มเหลวภายใน (Internal failure Cost) เกิดขึ้นเมื่อการดำเนินการในบางกระบวนการในองค์กรล้มเหลว ไม่เป็นไปตามระบบงานคุณภาพที่มีในองค์กร และเกิดขึ้นก่อนที่จะส่งมอบงานให้กับลูกค้า สาเหตุหลักเกิดขึ้นจาก แบบแปลนที่เปลี่ยนไป ทำให้เสียหายเป็นลูกโซ่ ทั้งเสียเวลาในการรอแก้แบบใหม่ คนงาน, วัตถุดิบและเครื่องจักรที่เตรียมมาล่วงหน้า เสียทั้งเงินและเวลา การทำงานที่ไม่จำเป็น ผลการทำงานผิดพลาด การจัดองค์กรที่ไม่ดี การติดต่อสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การนำเข้าวัสดุที่ผิด หรือนำเข้าวัสดุมาเกินความจำเป็น ของเหลือจากการผลิตที่ไม่สามารถ ซ่อมใช้ใหม่ การแก้ไขงาน ทำงานซ้ำ เนื่องจากงานเสีย มีของเสีย ของที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
2.2 ค่าใช้จ่ายเนื่องจากความล้มเหลวภายนอก (External failure Cost) เกิดขึ้นเมื่อการดำเนินการในบางกระบวนการในองค์กรล้มเหลว ไม่เป็นไปตามระบบงานคุณภาพที่มีในองค์กร เกิดเมื่อของส่งมอบถึงลูกค้าแล้ว จึงปรากฏความผิดพลาด ความล้มเหลวภายนอกประกอบด้วย การซ่อมงานหรือต้องให้บริการหลังการส่ง, การส่งคืนหรือเปลี่ยนให้ใหม่จากการรับประกัน, การร้องเรียนจากลูกค้า, การส่งกลับไปให้ใหม่, ผลสืบเนื่องจากความรับผิดชอบ จากภาระ หรือหนี้สิน, การสูญเสีย ภาพลักษณ์/ภาพพจน์องค์กร