ข่าวแรก แนวทาง Toyota ฝ่าวิกฤตซัพพลายเชน
ข่าวที่สอง นักวิทยาศาสตร์เผย วิธีสกัดแร่ลิเธียมแบบใหม่ ลดต้นทุนผลิตรถอีวี
1. Toyota ประกาศสิ้นสุดสภาวะฉุกเฉินแก่ซัพพลายเออร์ ยุติมาตรการเร่งผลิตของโรงงานต่าง ๆ นอกประเทศจีนและญึ่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการผลิตในจีนต่อได้ เหตุจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ฝ่ายบริหารของ Toyota Group เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางบริษัทสามารถหาชิ้นส่วนทดแทนได้แล้วเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) และการแบ่งกลุ่มซัพพลายเออร์ตามเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ใช้ ฝ่ายบริหารของ Toyota Group เปิดเผยว่า สาเหตุที่ซัพพลายเชนของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ในระดับต่ำ เนื่องจากทางบริษัทไม่มีการสต็อกสินค้ามากนัก และผลิตตามยอดสั่งซื้อเป็นหลัก ทำให้การบริหารซัพพลายเชนมีความเข้มงวดอยู่เป็นประจำ อีกข้อหนึ่ง คือ ทางบริษัทส่งเสริมให้ซัพพลายเออร์มีการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งซัพพลายเออร์ออกเป็นกลุ่มตามเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ในกรณีที่มีบริษัทใดไม่สามารถส่งมอบชิ้นงานตามต้องการได้ ก็จะสามารถนำบริษัทอื่นเข้ามาช่วยผลิตในส่วนที่ขาดหายชดเชยได้โดยสะดวก
2. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานข่าวในวันนี้ (10 มี.ค. 2020) อ้างอิงทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งระบุว่าทีมวิจัยดังกล่าวกำลังศึกษาวิธีการสกัดแร่ลิเธียมแบบใหม่ที่ร่นระยะเวลาในการสกัดแร่ดังกล่าวเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น รายงานทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่าวิธีการใหม่นี้จะสามารถสกัดแร่ลิเธียมที่อยู่ในน้ำเค็มได้ถึง 90% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีการแบบเก่าด้วยการสูบน้ำเค็มมาไว้ในบ่อระเหยซึ่งสามารถสกัดลิเธียมออกมาได้เพียงแค่ 30% เท่านั้น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาที่ยาวนานถึง 18 เดือน โดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า หากสามารถพัฒนาวิธีการสกัดแร่ลิเธียมแบบใหม่จนสำเร็จจะช่วยร่นระยะเวลาการสกัดเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นในส่วนของแร่ลิเธียมเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันสามารถสกัดได้จากแร่สปอดูมีนซึ่งพบได้ในเหมืองหินที่ประเทศออสเตรเลีย และการสกัดจากน้ำเค็มตามบ่อระเหยในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนติน่า ชิลี และโบลิเวียร์ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้นอกจากจะใช้เวลานานแล้วยังใช้ทรัพยากรจำนวนมาก