ข่าวแรก Toyota ลดกำลังผลิตในญี่ปุ่น 40% ข่าวที่สอง อุตสาหรรมยานรถยนต์ไทย ลดเป้าผลิต 50% สูญเงิน 1 ล้านล้าน ข่าวที่สาม ผู้ผลิต Lamborghini ผลิตเครื่องจำลองการหายใจช่วยคัดผู้ป่วยโควิด-19 ข่าวที่สี่ ญี่ปุ่นตัดสินใจทุ่มงบย้ายฐานผลิตกลับประเทศ 1. Toyota ประกาศ ยืดระยะเวลาการปิดโรงงานในประเทศญี่ปุ่นออกไปจากกำหนดเดิม สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น และความต้องการยานยนต์ที่ลดลงทั่วโลก โดยทางบริษัท จะเพิ่มวันหยุดสายการผลิตเพิ่ม 2 วัน คือวันที่ 1 พฤษภาคม และ 11 พฤษภาคม และลดการทำงานของพนักงาน จาก 2 กะ เหลือ 1 กะตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นไป รวมถึงพิจารณาเพิ่มวันหยุดสายการผลิต ซึ่ง Toyota มีแผนปรับลดกำลังผลิตของโรงงานยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับส่องออกเป็นหลักอย่างไรก็ตาม Toyota แจ้งว่า กำหนดการทั้งหมดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น และสถานการณ์ซัพพลายเชนทั่วโลกการปรับลดการผลิตของ Toyota ในครั้งนี้ จะทำให้กำลังผลิตของบริษัทลดลงประมาณ 40% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป 2. นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไตรมาสแรกที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม 2563) มีจำนวนทั้งสิ้น 453,682 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเกือบ 20% ผลกระทบหลักมาจากเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ สภาอุตฯประเมินว่า หากไวรัสโควิดยังยืดเยื้อไปจนถึงเดือนมิถุนายน อาจจะต้องปรับเป้าการผลิตปี 2563 ใหม่ โดยคาดว่าน่าจะทำได้เพียง 1.4 ล้านคัน และหากยังไม่จบลากยาวไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 คาดว่าเป้าผลิตทั้งปีจะเหลือแค่ 1 ล้านคันเท่านั้น จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นตลาดในประเทศและส่งออกอย่างละ 50% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมาจากเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 3. Siare Engineering International Group ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจชั้นนำสัญชาติอิตาลี ร่วมกับ Lamborghini สนับสนุนทรัพยากร และเครื่องจักรจากแผนวิจัย และพัฒนา เพื่อช่วยผลิตเครื่องจำลองการหายใจ ภายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเครื่องจำลองการหายใจนี้ จะถูกใช้ในการช่วยทดสอบประสิทธิภาพการหายใจของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในเบื้องต้นเพื่อช่วยในการคัดกรอง และจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์อีกครั้งในช่วงท้าย ไม่ใช่อุปกรณ์ที่สามารถตัดกรองได้ด้วยตัวเองแต่อย่างใด โดยความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ผลิตชั้นนำในประเทศอิตาลีทั้ง 2 บริษัท แต่ก็สามารถร่วมมือกันในสภาวะวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ได้ 4. จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และซัพพลายเชน นำมาซึ่งความอ่อนแอต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมของโลก ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวญี่ปุ่น จึงประกาศผลักดันนโยบายสนับสนุนการถอนฐานการผลิตจากประเทศที่กำหนด เช่น จีน และย้ายกลับเข้าสู่ประเทศ โดยทุ่มงบประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการขนย้าย และค่าลงทุนเครื่องจักร เพื่อเสริมโครงสร้างการผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ และเสริมความแข็งแกร่งในสภาวะฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงปัญหาของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก ทำให้ในประเทศญี่ปุ่นเกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ เช่น หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ ชุดกันเชื้อโรค และสินค้าที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ นำสู่่การจัดตั้งโครงการดังกล่าว โดยการให้เงินสนับสนุนนี้ จะพิจารณาธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการนำประเทศก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 เป็นลำดับแรก เช่น ผู้ผลิตหน้ากาก น้ำยาฆ่าเชื้อ เวชภัณฑ์ยา และสินค้าอุปโภคบริโภค จากนั้นจึงจะขยายขอบเขตการสนับสนุนไปยังอุตสาหกรรมการผลิตต่อไป