ข่าวแรก เทคโนโลยี IT และ 5G ช่วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดินหน้า
ข่าวที่สอง Covid -19 ฉุด GDP ติดลบ
ข่าวที่สาม Volkswagen ลุยเปิดสายการผลิต 2 โรงงาน
ข่าวที่สี่ Covid -19 กระทบแผนรถยนต์ไฟฟ้า
1. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Kyocera ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ยอดขายของปีงบประมาณ 2020 จะอยู่ที่ประมาณ 14,076 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า 6.2% ในขณะที่กำไรจะลดลง 25.1% และรายงานเพิ่มเติมว่า รายได้จากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทอาจลดลงถึง 12% อย่างไรก็ตาม ประธานบริษัท Kyocera แสดงความเห็นว่า “แม้รายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์อาจลดลงถึง 30% แต่รายได้จากผลิตภัณฑ์ 5G เช่น ชิ้นส่วนสถานีฐาน, อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์, เซรามิกฟิลเตอร์, และอื่น ๆ จะสามารถชดเชยในส่วนนี้ได้” และคาดการณ์ว่ารายได้จากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะลดลงเพียง 3.3% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะลดลงเพียง 1.2% เท่านั้น ซึ่งทางประธานบริษัทชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีออเดอร์และชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์ 5G เพิ่มขึ้นอย่างมาก”
2. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันแถลงภายหลังการประชุม ว่า การแพร่ระบาดของไวรัส Covid -19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ฉุดเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก บ่งชี้ถึงการหดตัวลงของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแทบทุกด้าน มีเพียงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในหมวดสินค้าจำเป็นที่ยังขยายตัวได้เมื่อมองต่อไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่สถานการณ์ Covid -19 ในเดือนเมษายนรุนแรงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เครื่องชี้เศรษฐกิจจะยิ่งสะท้อนภาพการหดตัวที่ลึกขึ้น จากผลกระทบที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งในภาคต่าง รวมทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งมาตรการของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย จนภาครัฐทยอยผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการภายใต้แนวปฏิบัติที่ระมัดระวังโดยคงมาตรการ Social Distancing ไว้ ด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การประกอบกิจการของภาคธุรกิจบนภาวะปกติใหม่ (New Normal) ยังเต็มไปด้วยความความท้าทาย
3. Volkswagen ประกาศเปิดโรงงานในประเทศเยอรมนี เพื่อกลับมาทำการผลิตอีกครั้งซึ่งในช่วงต้น จะถูกผลิตแบบกะเดียวโดยพนักงาน 8,000 ราย ส่งผลให้กำลังผลิตลดลงจากช่วงสถานการณ์ปกติก่อนหน้า และใช้เวลาผลิตต่อคันมากขึ้น ทาง CEO บริษัท Volkswagen กล่าวแสดงความเห็นว่า “การกลับมาทำการผลิตไปทีละขั้นนี้ เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับแรงงาน ตัวแทนจำหน่าย ซัพพลายเออร์ และเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนี่เป็นเพียงก้าวแรกของเรา และยังต้องอาศัยปัจจัยอีกมากจึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้”นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้กลับมาเริ่มทำการผลิตที่โรงงานในประเทศประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวทางเดียวกันคือทำการผลิตแบบกะเดียว และจะเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเรื่อย ๆ ให้สอดคล้องกับการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐต่อไป
4. ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อ ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว โดยมีเหตุผลจากระบบชิ้นส่วน ซึ่งซัพพลายเออร์กำลังเจอกับพิษโควิดโดยเฉพาะจีน สภาอุตฯแห่งประเทศไทยระบุว่า หากโควิดยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนปีนี้ การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป้าการผลิตจาก 2 ล้านคันต่อปี จะเหลือเพียงครึ่งเดียว คนในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด น่าจะตกงานไม่น้อยกว่า 750,000 คน เม็ดเงินจะหายไปถึง 1 ล้านล้านบาท ผลกระทบครั้งนี้ยังสะเทือนไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในอุตฯรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ตั้งแต่แบตเตอรี่, จนไปถึงมอเตอร์ไฟฟ้า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษ และมีส่วนในการช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย